IEC

 

 

                        

IEC ย่อมาจาก International Electro technical Commission

ซึ่งเป็นหน่วยงานคณะกรรมาธิการระหว่างประเทศว่าด้วยมาตรฐานสาขาอิเล็กทรอเทคนิกส์ เป็นองค์กรอิสระที่เริ่มก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2449 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจัดทำมาตรฐานระหว่างประเทศ ทางด้านไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง นอกจากนั้นยังดำเนินการจัดทำระบบการตรวจประเมิน เพื่อการรับรองคุณภาพให้กับมาตรฐานของ IEC เพื่อเป็นเครื่องมือในการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศ การเป็นสมาชิก IEC จะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการแห่งชาติของประเทศ แต่ละประเทศจะมีคณะกรรมการแห่งชาติได้เพียงคณะเดียว


บทบาทของประเทศไทยกับ IEC
ประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกของ IEC ประเภทสมาชิกสมบูรณ์ ตั้งแต่ พ.ศ. 2534 โดยมีคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยมาตรฐานเทคนิคทางไฟฟ้าระหว่างประเทศ (กมฟท.) ซึ่งแต่งตั้งโดยมติคณะรัฐมนตรีเป็นคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเข้าร่วมกิจกรรมกับ IEC ในการเข้าร่วมกำหนดมาตรฐาน IEC ประเทศไทยได้สมัครเป็นสมาชิกประเภทร่วมทำงาน (P-member) ใน คณะกรรมการวิชาการและคณะอนุกรรมการวิชาการ รวม 21 คณะ และเป็นสมาชิกประเภทสังเกตการณ์ (O-member) รวม 56 คณะ
นอกจากนี้ ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกระบบการตรวจสอบและรับรองบริภัณฑ์เทคนิคไฟฟ้าและชิ้นส่วนของ IEC (IEC System of Conformity assessment Schemes for Electro technical Equipment and Components – IECEE) โดยมี สมอ. เป็นหน่วยรับรอง (National Certification Body - NCB) และสถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (สฟอ.) เป็นหน่วยทดสอบ (CB Testing Laboratory - CBTL) ของ IECEE โดยปัจจุบันได้เข้าร่วม ในขอบข่ายผลิตภัณฑ์เครื่องซักผ้า เครื่องปั่นสลัด และตู้เย็น


ข้อดีของการมีมาตรฐานร่วมกันคือ จะทำให้การออกแบบ การผลิต การใช้งานอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเลคทรอนิคส์ไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกในทางการค้า และขจัดการกีดกันทางการค้าที่มาในรูปแบบของข้อกำหนดมาตรฐานต่างๆ